คำถามที่พบบ่อย FAQ

การผลิตยางคอมปาวด์ ( Production Rubber Compound )

การผลิตยางคอมปาวด์ ( Production Rubber Compound )

การผลิตยางคอมปาวด์ เป็นนวัตกรรมใหม่ในการผลิตยาง เพื่อการส่งออก เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพคุณภาพของสูตรยาง ต้องอาศัยเทคโนโลยีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการออกสูตรเคมียางและการผสมยาง เพื่อให้ได้ยางคอมปาวด์ที่นำไปขึ้นรูปและคงรูปเป็นผลิตภัณฑ์ยางที่มีสมบัติตามที่ต้องการ

การผลิตยางคอมปาวด์ ทำการผลิตวัตถุดิบป้อนให้กับอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางอื่นๆ เช่น การผลิตยางรถยนต์ให้กับอุตสาหกรรมยานยนต์ การผลิตรองเท้ายาง ถุงมือยาง ถุงยางอนามัย เป็นต้น การผลิตยางคอมปาวด์ เพื่อให้ได้ยางที่มีคุณสมบัติเหมาะสมกับการผลิตในรูปแบบต่างๆ ซึ่งอาจดำเนินการในโรงงานเอง หรือมีโรงงานรีด บด ผสมยางโดยเฉพาะเป็นผู้ผลิตยางคอมปาวด์ส่งต่อให้อีกทอดหนึ่งก็ได้

วัตถุดิบและสารเคมี

วัตถุดิบของอุตสาหกรรมการผลิตยางคอมปาวด์ คือ ยางธรรมชาติและยางสังเคราะห์ ยางธรรมชาติที่ใช้ในกระบวนการผลิต เช่น STR 20, STR XL, STR L, STR 5L, ADS, RSS 1, RSS 2, 3, 4, 5 และ ยางสกิม เป็นต้น (STR : Standard Thai Rubber (ยางแท่ง) , ADS : Air Dried Sheet (ยางแผ่นผึ่งแห้ง), RSS : Ribbed Smoked Sheet (ยางแผ่นรมควัน) ) ส่วนยางสังเคราะห์ เช่น SBR (Styrene Butadiene Rubber) , BR (Butadiene Rubber), IR (Isoprene Rubber), IIR (Butyl Rubber) , EDPM (Ethylene Propylene Diene Monomer)

สารเคมีที่ใช้ผสมกับยาง ซึ่งประกอบไปด้วย

  • สารที่ทำให้ยางคงรูป (Vulcanizing Agent) เป็นสารทำให้ยางอยู่ในสถานะที่ยืดหยุ่นได้สูง หรือเรียกว่า “คงรูป” โดยโรงงานมักเรียกกันว่า “ยางสุก”
  • สารเร่งให้ยางคงรูป (Accelerator) ทำหน้าที่เร่งอัตราการเกิดปฏิกิริยาให้ยางคงรูปเร็วขึ้น
  • สารกระตุ้นสารเร่ง (Activator) ทำหน้าที่กระตุ้นสารเร่งให้ยางคงรูปเกิดปฏิกิริยาเร็วขึ้น โดยจะเกิดสารประกอบเชิงซ้อนกับสารเร่งให้ยางคงรูป มีผลทำให้ยางคงรูปเร็วขึ้น
  • สารตัวเติม (Filler) ในกระบวนการผลิตมีการเติมสารตัวเติมเพื่อยืด ลดต้นทุนรวมทั้งเพิ่มความคงทนต่อสารเคมีของยางคอมปาวด์
  • สารช่วยในกรรมวิธีการผลิต (Processing Aids) ในกระบวนการผลิตมีการเติมสารช่วยเพื่อเปลี่ยนสมบัติของยางคอมปาวด์ เช่นความแข็งกระด้าง ยืดหยุ่น ลดค่าใช้จ่ายโดยเพิ่มปริมาณสารเติมและลดปริมาณการใช้พลังงาน รวมทั้งช่วยในการแปรรูปยางได้ง่ายขึ้น
  • สารป้องกันยางเสื่อมสภาพ ( Age-Resistors,Protective Agent ) เป็นสารที่ใส่เพื่อป้องกันยางเสื่อมสภาพ

ขั้นตอนการผลิตยางคอมปาวด์

ขั้นตอนการผลิตยางคอมปาวด์
  1. Banbury internal mixer (เครื่องผสมระบบปิดแบนบูรี่) เครื่องผสมระบบปิดให้ประสิทธิภาพและความรวดเร็วในการผสม สารเคมีไม่ฟุ้งกระจายระหว่างการผสม ลดการสูญเสียสารเคมีขณะผสม สามารถผสมยางกับสารเคมีได้ในปริมาณสูง ในการผสมยางกับสารเคมียางจะใส่ยางลงช่องระหว่างลูกกลิ้ง ทำให้เกิดการผสมคลุกเคล้าของยางกับสารเคมี ยางและสารเคมีจะถูกบีบนวดผสมกันในสภาวะที่ควบคุมอุณหภูมิของห้องผสมอย่างเหมาะสม ทำให้สารเคมีต่างๆ กระจายตัวในยางได้ดีขึ้น เมื่อทำการผสมยางกับสารเคมีเรียบร้อยแล้วก้อนยางก็จะถูกส่งไปยังเครื่อง Bucket Conveyor
  2. Bucket Conveyor (เครื่องกระพ้อลำเลียง) ทำหน้าที่ในการขนย้ายจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง เมื่อยางที่ถูกผสมมาเรียบร้อยก็จนถูกใส่ยังถังลำเลียง เมื่อได้ปริมาณที่เหมาะสมแล้ว เครื่องก็จะลำเลียงยางขึ้นไปยังส่วนหัวของเครื่องกระพ้อลำเลียง แล้วเทให้ยางหล่นลงบนเครื่องรีดยาง
  3. 2 Roll Mill Machine (เครื่องรีดยาง) หลังจากยางที่ถูกลำเลียงมาถึงเครื่องรีดยาง เครื่องรีดยางจะทำหน้าที่รีดยางด้วยความร้อน ให้ยางมีขนาดตามความต้องการแล้วเป็นแผ่น เมื่อยางถูกรีดเป็นแผ่นและมีขนาดที่ต้องการแล้ว แผ่นยางก็จะถูกส่งไปยังเครื่อง Batch-Off Machine
  4. Batch-Off Machine (เครื่องตากยาง) เมื่อยางผ่านการรีดมาจะมีความร้อน จึงต้องนำยางลงน้ำแป้ง เพื่อช่วยให้ลดอุณหภูมิของยางและยางจะลำเลียงผ่านสายพานลำเลียงไปยังตู้ตาก ตู้ตากจะมีแขนตากและพัดลมช่วยเป่าลดอุณหภูมิ แขนตากจะหมุนด้วยมอเตอร์ เมื่อยางมาถึงจะถูกหย่อนลงบนแขนตาก แขนตากจะหมุนเองไปเรื่อย ๆ พร้อมกับยางหย่อนลงมาเรื่อย ๆ เมื่อยางมาถึงจุดปลายทางของตู้ จะมีเครื่อง Air Cylinder Rubber Auto Clip ในการหนีบยางขึ้นมาไปกระบวนการต่อไป
  5. Air Cylinder Rubber Auto Clip (เครื่องหนีบยาง) อุปกรณ์ชุดกระบอกลมหนีบยางอัตโนมัติ ที่ใช้งานประเภทยาง โดยการนีบยางออกจากเครื่องรดอุณภูมิเพื่อส่งไปยังเครื่องต่อไป โดยไม่ต้องใช้แรงคนหยิบชิ้นงานออกมา
  6. Metal Detector Belt Conveyor (เครื่องตรวจจับโลหะ) เมื่อยางถูกหนีบขึ้นมาวางบนสายพานลำเลียง ก็จะถูกลำเลียงมายังเครื่องตรวจจับโลหะ เครื่องตรวจจับโลหะทำหน้าที่ในการจับโลหะที่ติดมากับยาง หากมีโลหะติดมากับยาง จะมีสัญญาณดังขึ้นเพื่อให้เจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบนำโลหะออกจากยาง เมื่อตรวจสอบเสร็จยางก็จะถูกส่งไปยัง Hopper Swing เพื่อเรียงชิ้นงานบนพาเลท
  7. Hopper Swing (เครื่องเรียงชิ้นงาน) เมื่อยางลำเลียงมาถึง เครื่องเรียงชิ้นงาน จะทำหน้าที่ในการเรียงชิ้นงานบนพาเลท โดยการแกว่งไปมา ซ้าย-ขวา เรียงแบบพับทับกัน
  8. Pallet (บรรจุชิ้นงาน) ใช้ในการบรรจุยางที่ผ่านกระบวนการ การผลิตยางคอมปาวด์ตั้งแต่ขั้นตอนแรกขนถึงขั้นตอนสุดท้าย