วิถีการตลาดยางพาราในประเทศไทย มีภาพรวมอย่างไร เริ่มต้นตั้งแต่ เกษตรกร สู่กระบวนการแปรรูปต่างๆ สู่การผลิต จนออกสู่กลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมยาง ผลิตภัณฑ์ยาง ล้อยางรถยนต์ ถุงมือยาง สายพานลำเลียง และผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ เป็นต้น
ภาพรวม (แบบคร่าวๆ) ของวิถีการตลาดยางพาราในประเทศไทย มีวิถีการตลาดยางพาราในประเทศไทย เริ่มต้นจากเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราซึ่งกระจายตัวอยู่ในพื้นที่ต่างๆ คือภาคใต้ ภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ เกษตรกรจะกรีดยาง และนำไปจำหน่ายในรูปของ "น้ำยางดิบ", "ยางก้อนถ้วย" หรือ "ยางแผ่นดิบ" โดยเกษตรกรจะรวบรวมผลผลิต เพื่อไปจำหน่ายต่อไปเกษตรกรส่วนหนึ่ง จะนำไปจำหน่ายให้แก่พ่อค้าคนกลางในระดับหมู่บ้าน/อำเภอ ซึ่งเป็นผู้รวบรวมผลผลิตที่กระจายตัวอยู่ในพื้นที่จำนวนมาก และอีกส่วนหนึ่งจะนำไปจำหน่ายให้แก่กลุ่มเกษตรกร หรือสหกรณ์การเกษตร ซึ่งพ่อค้าคนกลางระดับหมู่บ้าน/อำเภอ กลุ่มเกษตรกร หรือสหกรณ์การเกษตร ส่วนมากจะรวบรวมผลผลิตเพื่อนำไปจำหน่ายต่อให้แก่พ่อค้าคนกลางระดับจังหวัด ซึ่งเป็นผู้รวบรวมรายใหญ่ บางส่วนจะนำไปจำหน่ายผ่านตลาดกลาง หรือ ตลาดประมูลยาง หรืออาจจำหน่ายโดยตรงให้แก่โรงงานแปรรูปขั้นต้น ในส่วนของพ่อค้าคนกลางระดับจังหวัด เมื่อรวบรวมผลผลิตได้จำนวนมาก จะนำไปจำหน่ายให้แก่โรงงานแปรรูปยางขึ้นต้น เพื่อแปรรูปเป็น "ยางแผ่นรมควัน" "ยางแท่ง" "ยางเครป" "น้ำยางข้น" และ "ยางคอมปาวน์" ต่อไป
ในส่วนของการจำหน่ายผ่านตลาดกลางนั้น เนื่องจากสินค้าที่มีการซื้อขายในตลาดกลางมีสินค้า 3 ชนิดคือยางแผ่นดิบ ยางแผ่นรมควัน และ น้ำยาง จึงมีโรงงานผู้แปรรูปขั้นต้นคือโรงงานยางแท่ง โรงงานยางแผ่นรมควันและพ่อค้าคนกลางระดับจังหวัดเข้ามาทำการประมูลซื้อสินค้า เมื่อผู้แปรรูปขั้นต้นน้ำสินค้าไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ยางพาราขั้นต้นแล้ว ผลิตภัณฑ์ยางพาราที่ได้ จะถูกส่งจำหน่ายไปยังผู้ใช้ทั้งในประเทศ และส่งออกไปจำหน่ายในต่างประเทศต่อไป
สำหรับกลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางพารา ในประเทศ ได้แก่ โรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางประเภทต่างๆ เช่นโรงงานผลิตยางล้อรถยนต์ โรงงานถุงมือยาง ถุงยางอนามัย เป็นต้น ในส่วนส่งออกจะถูกส่งออกในรูปของผลิตภัณฑ์แปรรูปขั้นต้นไปยังประเทศต่างๆ อาทิเช่น ประเทศจีน เป็นต้น
อ้างอิงที่มา: "แนวทางเบื้องต้นในการเพิ่มบทบาทและศักยภาพ การแปรรูปและพัฒนาระบบตลาดยางพาราในระดับเกษตรกร"
รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ จัดทำโดย ศูนย์วิจัยเศรษฐศาสตร์ประยุกต์ ภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อเสนอ สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง 2555